Saturday, 19 July 2014

ประสบการณ์คลอดลูกที่อังกฤษ


         เนื่องจากอังกฤษใช้ระบบการรักษาพยาบาลแบบ NHS การรักษาพยาบาลในส่วนของการคลอดบุตรจึงฟรีทุกอย่าง เริ่มตั้งแต่ฝากครรภ์ จนกระทั่งคลอดบุตร และยังฟรีไปถึงหลังคลอดบุตรอีก 12 เดือน ส่วนลูกที่คลอดออกมาแล้ว ค่ารักษาพยาบาลฟรีจนถึงอายุ 16 ปี  (การรักษาพยาบาล) แต่ถ้าลูกเรียนต่อแบบเต็มเวลาค่ารักษาพยาบาลฟรีถึง 18 ปี  (เรียนที่อังกฤษ)

          เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ สิ่งแรกคือต้องไปฝากครรภ์ที่ GP ใกล้บ้าน โดยเราจะมีแพทย์ประจำตัวของเราเอง แต่การพบแพทย์จะเจอแค่ครั้งแรกของการฝากครรภ์เท่านั้น และหมอจะให้คุณเลือกโรงพยาบาลที่จะคลอด  นอกนั้นจะเป็นหน้าที่ของพยาบาลผดุงครรภ์ประจำตัวเรา 1 ท่าน midwife ที่จะดูแลเราตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ ก็คลายกับหมอนัดตรวจครรภ์ที่ไทยค่ะ หากการตั้งครรภ์มีปัญหาหรือพบสิ่งผิดปกติก็ต้องพบแพทย์ โดยโทรสอบถามและนัดพบหมอหากคุณแม่ยังเป็นกังวลอยู่ บางครั้ง midwife จะมาตรวจครรภ์ท่านที่บ้านกรณีที่มีปัญหา เช่น ลูกไม่ดิ้น midwife ก็จะมาตรวจการเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์  สามารถให้คำแนะนำทุกอย่างแก่ท่าน
      
         เมื่อครรภ์ได้ประมาณ 4 เดือน ท่านสามารถขอ scan เพื่อดูเพศของทารก ที่โรงพยาบาล เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ก็จะพบ midwife ถี่ขึ้น  หากทุกสิ่งเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ ก็ปฏิบัติตามปกติจนกว่าใกล้คลอด กรณีผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ ก็จะพบหมอเป็นกรณีไป

          เมื่อใกล้คลอดก็ต้องเตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างให้พร้อม เช่น เตรียมของใช้ให้ลูก เช่น เสื้อผ้า ผ้าอ้อม ถุงมือ ถุงเท้า ชุดเด็กเล็ก ฯลฯ โรงพยาบาลจะไม่มีชุดของโรงพยาบาลให้ใส่ เตรียมของใช้ของคุณแม่ด้วย เช่น ผ้าอนามัย ชุดใส่หลังคลอด ฯลฯ   

          เมื่อครบกำหนดคลอด (บางคนคลอดก่อนกำหนดบางคนหลังกำหนด) ทาง midwife จะอธิบายทุกอย่างว่าเราควรทำอย่างไร เมื่อเจ็บท้องคลอค ต้องโทรไปที่โรงพยาบาล แล้วทางโรงพยาบาลจะถามอาการของเรา เขาจะไม่ให้ตรงไปที่โรงพยาบาลทันที่ หากรู้สึกเจ็บท้องคลอดมักจะมีอาการเตือน (ซึ่งคุณแม่ต้องไปศึกษาสัญญาณเตือนเมื่อใกล้คลอด) ก็สามารถไปที่โรงพยาบาลทันที แต่ถ้าไม่บ่งบอกว่าจะคลอดทางโรงพยาบาลก็จะส่งคุณกลับบ้าน รอจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะคลอดจริงๆ อันนี้ทรมานมาก เพราะเกิดขึ้นกับตัวเอง ไปโรงพยาบาลแล้วรอบหนึ่งต้องกลับมาที่บ้าน และอีกไม่ถึง 5 ชั่วโมงก็เจ็บท้องมากๆ จนทนไม่ไหวและไปที่โรงพยาบาลอีกครั้ง จากนั้นพยาบาลตรวจมดลูกเปิด 4 เซนติเมตร จึงให้นอนที่โรงพยาบาลได้ 


ห้องคลอด

          ห้องคลอดที่โรงพยาบาลอาจจะไม่เหมือนกันทุกโรงพยาบาล แต่ที่ตัวเองเจอคือ เป็นห้องคลอดส่วนตัว ห้องกว้างมีอุปกรณ์การทำคลอดทุกอย่าง มีห้องน้ำส่วนตัวในห้องนั้น ญาติ(สามี)สามารถนอนในห้องนั้นได้ 1 คน และอยู่ในห้องคลอดตลอดเวลาที่เราคลอด ช่วงที่รอคลอดเข้าจะให้ออกกำลังกายโดยนั่ง bouncing ball for pregnancy เพื่อให้มดลูกเปิดมากยิ่งขึ้น  ยังไม่คลอดสักทีรอจนครึ่งวันถึงจะคลอด คนที่ทำคลอดเป็น midwives อีกเช่นกัน ทีแรกนึกว่าจะเป็นคุณหมอเจ้าของไข้ที่เจอครั้งแรกที่ฝากครรภ์ แต่คิดผิดค่ะ ใครที่ตั้งครรภ์ในอังกฤษ ทุกอย่างเป็นหน้าที่ของ midwives หมด

bouncing ball for pregnancy


         สำหรับตัวเองเมื่อคลอดลูกเสร็จ ก็ให้ลูกอยู่ในห้องเดียวกับแม่เลย ไม่รู้โชคดีหรือโชคร้ายคลอดแบบปกติ เจ็บมากๆ เพราะลูกตัวโตหนัก 3.7 กก. อยู่โรงพยาบาลต่ออีก 2 วัน (ปัจจุบันนี้โรงพยาบาลในอังกฤษส่วนใหญ่ถ้าคลอดลูกเสร็จเขาจะส่งตัวกลับไปในวันถัดไป) พยาบาลก็จะสอนวิธีให้นมลูก วิธีอุ้มลูกให้ถูกวิธี  สอนสามีถึงวิธีการดูแลเด็กคลอดใหม่ด้วย ที่โรงพยาบาลมีอาหารให้ 3 มื้อฟรี ห้องคลอดฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยความอยากตอบแทนในความช่วยเหลือทั้งหมดของเจ้าหน้าที่พยาบาล ได้ซื้อการ์ดขอบคุณ ช่อดอกไม้และช๊อคโกเลตเป็นการตอบแทนที่ทำคลอดให้ ซึ่งเมื่อเทียบกับบริการแล้วดีมากๆ โรงพยาบาลที่คลอดคือ Diana, Princess Of Wales Hospital (Scartho Road, Grimsby, DN33 2BA) 

แม่ลูกได้อยู่ใกล้กัน คลอดเสร็จก็อยู่ในห้องคลอดเลย ไม่ย้ายไปห้องอื่น อันนี้ชอบมากๆค่ะ เห็นหน้าลูกความเจ็บปวดจากการคลอดลูกหายไปในพริบตาค่ะ 


        จากนั้นก็กลับบ้าน ประมาณ 1-2 สัปดาห์ midwife ก็จะมาเยี่ยมที่บ้าน หลังจาก 2 สัปดาห์ก็จะเปลี่ยนเป็น midwives อีกชุดหนึ่งมาตรวจทั้งแม่และลูกที่บ้าน เข้าจะให้คำแนะนำกรณีเด็กมีปัญหา ภาวะหลัง คลอดของคุณแม่ หรือแม้แต่ดูแผลที่เราคลอด เจาะเลือดลูกมาตรวจ จะมาดูแลแบบนี้ทุก 2 สัปดาห์ ทั้งเช็คน้ำหนักลูก ส่วนสูง ทุกอย่าง พอลูกได้ 4 เดือนขึ้นไป ให้พาลูกไปที่ children centre  และสอบถามวิวัฒนาการของลูก เช็คน้ำหนัก ฯลฯ จนกว่าลูกอายุครบ 1 ขวบ ในแต่ละช่วงก็จะนัดให้ลูกฉีดวัคซีนตามตารางเวลาที่เขากำหนดไว้

        แต่ละโรงพยาบาลที่อังกฤษไม่เหมือนกัน บางคนก็ได้อยู่ห้องรวมกับผู้ตั้งครรภ์ด้วยกัน และญาติไม่สามารถอยู่ด้วยได้ ขอบอกว่าเจอกับตัวเองเหมือนกันตอนแท้งลูกคนแรก ถูกส่งตัวให้ไปอยู่อีกโรงพยาบาลหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่โรงพยาบาลที่ตัวเองเลือก คือเขาจะให้เราอยู่รวมกันกับคุณแม่รายอื่นๆ ทั้งรอคลอด ใกล้คลอด และคลอดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตอนนั้นทรมานสุดๆ นึกดูว่าคนพึ่งแท้งลูก แล้วต้องมานอนในโรงพยาบาลคนเดียว ไม่อนุญาตให้ญาติเฝ้า ขอบอกว่าเป็นคืนที่โหดร้ายมาก นอนร้องไห้ทั้งคืน แต่พยาบาลก็มาเช็คนะค่ะ มาเปลี่ยนผ้าอนามัยให้เพราะเสียเลือดมาก

         อย่างไรเสีย คุณแม่ทั้งหลายที่กำลังจะคลอดลูกในต่างแดน ก็ควรที่จะศึกษาข้อมูลต่างๆ ด้วยตัวเองด้วยค่ะ หากเกิดปัญหาระหว่างตั้งครรภ์เราจะได้รู้ว่าเราควรปฏิบัติอย่างไร ตัวเองและสามีมักจะโทรสอบถาม midwife เสมอเพื่อขอคำแนะนำ เนื่องจากเราเป็นคุณแม่มือใหม่ค่ะ ซึ่งตอนนี้ลูกสาวอายุ 7 ขวบแล้วค่ะ


Sunday, 13 July 2014

เดินทางไปต่างประเทศ


          ประสบการณ์เดินทางไปต่างประเทศ(อังกฤษ) เป็นธรรมดาสำหรับคนที่เดินทางไปต่างประเทศเป็นครั้งแรกยิ่งถ้าเดินทางคนเดียว ยิ่งเพิ่มความตื่นเต้นหลายเท่า ตื่นเต้นมากหรือน้อยเป็นอยู่แล้ว ไม่ว่ากัน บ้างก็คิดไปต่างๆนาๆ  ว่าฉันจะไปรอดหรือเปล่าเนี่ย จะขึ้นเครื่องผิดไหม จะตกเครื่องหรือเปล่า คิดไปสารพัด และแล้วเราให้กำลังใจกับตัวเอง คนอื่นทำได้ เราก็ต้องทำได้ เอ้า..ตั้งสติ อย่างไรการเดินทางต้องราบรื่นสินะ... ส่วนวีดีโอข้างล่างนี้เป็นการเตรียมตัวด้านภาษาอังกฤษ




เริ่มต้นทุกอย่างอย่างมีแบบแผน เอาล่ะเตรียมเรื่องกระเป๋าเดินทางก่อน
       1. กระเป๋าเดินทางหรือสัมภาระของเราค่ะ เรียก suitcase เช็คจากสายการบินก่อนว่าน้ำหนักกระเป๋าสัมภาระคุณบรรจุได้กี่กิโลกรัม ถ้าน้ำหนักเกินมากกว่าที่กำหนดคุณต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม สิ่งของใน suitcase ของใช้จำเป็นของคุณรวมทั้งของใช้ที่เป็นของเหลวด้วย เช่น สบู่เหลว โลชั่นทาผิว น้ำหอม ยาสีฟัน ฯลฯ ซึ่งกระเป๋าสัมภาระนี้จะโหลดใต้ท้องเครื่อง เขียนชื่อ ที่อยู่ปลายทางติดที่กระเป๋า หากมีการติดขัดเจ้าหน้าที่จะได้ส่งกระเป๋าคุณถึงที่พักได้ ทำสัญลักษณ์ที่ทำให้คุณจำกระเป๋าของคุณง่ายขึ้น เช่น ติดสายรัดกระเป๋าที่เห็นชัดเจน หรือติดริบบิ้น  เพราะตอนรับกระเป๋าจะคล้ายๆกัน ตาลายฮ่าๆๆ

       2. กระเป๋าเดินทางขนาดเล็ก hand luggage คือกระเป๋าเดินทางที่ลาก หรือหิ้วขึ้นเครื่อง โดยปกติจะประมาณ 7-10 กิโลกรัม (แล้วแต่ละสายการบินกำหนด) ซึ่งไม่ควรให้ใหญ่มาก บางสายการบินจะกำหนดความกว้าง ยาว หนา ของกระเป๋าด้วย สิ่งที่อยู่ในกระเป๋าควรเป็นของที่คุณจะใช้ระหว่างอยู่บนเครื่อง เช่น ยาที่คุณใช้เป็นประจำ, หนังสืออ่านเล่นแก้เหงา, โน๊ตบุ๊ค,  เอกสารสำคัญต่างๆ ที่จะต้องใช้ในการตรวจคนเข้าเมือง ไม่ควรนำของเหลวใส่ไว้ใน hand luggage หากจำเป็นจริงๆ สามารถเอาไปได้ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม และต้องใส่ไว้ในถุงพลาสติกใส

            เพิ่มเติมนิดหน่อยกรณีคุณแม่ทั้งหลายที่เดินทางกับลูกน้อย คงต้องเตรียมสัมภาระให้ลูกน้อย เช่น ผ้าอ้อม ขวดนม ยา(กรณีเป็นขวดยาต้องไม่เกิน 100 มิลลิกรัม) ถ้าเกินต้องมีใบสั่งแพทย์กำหนดไว้ เสื้อผ้าสำรองเผื่อลูกทำเลอะเทอะ สำหรับน้ำดื่มลูก ขวดนม ทางเจ้าหน้าที่จะให้คุณพิสูจน์ โดยการชิมขวดนมหรือน้ำดื่มของลูก หากไม่มีสารอันตรายก็ผ่าน หากอันตรายคนชิมคงเหลือแต่ชื่อฮ่าๆๆ (กรณีนี้เมื่อเดินทางกับเด็กเล็ก)

      3. เตรียมเอกสารให้พร้อม 
          - หนังสือเดินทาง passport 
          - ตั๋วเครื่องบิน flight ticket
          - เอกสารสำคัญที่ต้องใช้กรณีตรวจคนเข้าเมือง เช่น หนังสือเชิญ ใบตรวจสุขภาพ ฯลฯ

      4. กระเป๋าถือสำหรับสุภาพสตรี/สุภาพบุรุพ ใบไม่ใหญ่มาก เราสามารถใส่เครื่องสำอาง ของใช้จิปาถะ (บางสายการบินอนุญาตให้ถือได้แต่ hand luggage เท่านั้น ต้องเช็คก่อนออกเดินทาง เพื่อป้องกันน้ำหนักเกิน)

เมื่อกระเป๋าพร้อม เอกสารเดินทางพร้อม เตรียมตัวเดินทาง
       1. ควรไปถึง สนามบินก่อน 2-3 ชั่วโมง ในโซนผู้โดยสารขาออก Departures โดยเช็คอินที่เคาน์เตอร์ International (สายการบินระหว่างประเทศ)

       2. ยื่น Passport กับตั๋วเครื่องบิน จากนั้นชั่งน้ำหนักกระเป๋า เสร็จขั้นตอนนี้แล้วเจ้าหน้าที่คืน passport, Boarding pass, สติ๊กเกอร์ baggage claim (โดยมากเจ้าหน้าที่จะติดสติ๊กเกอร์ไว้หลังหนังสือเดินทาง) และเอกสารใบขาออกเมือง (เมื่อออกนอกประเทศ) ,ขาเข้าเมือง (เมื่อกลับเข้ามาไทย)  เอกสารขาเข้า-ออก อยู่ในชุดเดียวกัน

       3. Boarding pass จะระบุเที่ยวบิน flight ประตูขึ้นเครื่อง Gate เลขที่นั่งบนเครื่องบิน และเวลาเดินทาง

      4. กรอกเอกสารบัตรขาออก Departures card เอกสารบัตรขาเข้า Arrival card ก่อนเข้าไปด่านตรวจคนออกนอกเมือง ควรกรอกทั้งขาออกและขาเข้าให้เรียบร้อย เมื่อกลับมาไทยจะได้ไม่ต้องกรอกอีก

จุดตรวจคนออกนอกเมือง หรือ Immigration Counter
       1.เดินไปต่อแถวที่เขียนว่า หนังสือเดินทางไทย หรือ Thai passport
       2. ยื่นหนังสือเดินทาง , boarding pass และเอกสารบัตรขาออกที่กรอกไว้เรียบร้อยแล้ว
       3.เจ้าหน้าที่จะมีกล้องตัวน้อยๆ อยู่ตรงหน้า เขาจะบอกให้มองกล้อง พร้อมรูปในหนังสือเดินทางว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันหรือไม่
       4. เจอด่านตรวจกระเป๋าที่หิ้วขึ้นเครื่อง จุดนี้จะไม่อนุญาติให้นำของเหลวที่เกิน 100 มิลลิกรัมขึ้นเครื่องตามที่บอกไปแล้วนั้น

เมื่อผ่านจุดตรวจคนออกนอกเมืองแล้ว
        1. ดู Gateว่าจะขึ้นเครื่องประตูไหน ซึ่งจะโชว์ในจอมอนิเตอร์ ซึ่งจะบอกเที่ยวบิน เวลาเครื่องออก และต้องออก Gate ไหน
        2. ควรหา Gate ให้เจอก่อน เมื่อรู้ว่าเราจะขึ้นเครื่องออกประตูทางออกไหนแล้วก็มีเวลาซื้อของใน Duty free
        3. เมื่อใกล้เวลาเดินทาง ควรเผื่อเวลาเล็กน้อย เพราะจะมีการตรวจกระเป๋า hand luggage อีกครั้งก่อนขึ้นเครื่อง
        4.เมื่อเดินมาถึง Gate เรียบร้อยแล้ว ยื่น passport และ boarding pass

พอถึงเวลาขึ้นเครื่อง
       1.ทางสายการบินจะเรียกให้เด็ก คนชรา คนพิการ ตลอดจนผู้โดยสารชั้นธุรกิจขึ้นเครื่องก่อน
       2.จากไหนจะเรียกผู้โดยสาร ตามหมายเลขที่นั่ง ซึ่งจะเรียกผู้โดยสารที่นั่งด้านหลังเครื่องบินก่อน เมื่อถึงหมายเลขของคุณก็เดินขึ้นเครื่อง
       3.เจ้าหน้าที่จะอยู่ประตูทางเข้าเครื่องบิน และจะขอดู boarding pass เพื่อบอกให้คุณเดินไปหาเลขที่นั่งได้ถูก เช่น A56 (เก้าอี้แถว A เลขที่นั่ง 56) หาที่นั่งเจอแล้วเก็บกระเป๋าไว้ในที่เก็บเหนือศรีษะให้เรียบร้อย
      4.เมื่อได้ที่นั่งแล้ว ให้รัดเข็มขัดให้เรียบร้อย ก่อนเครื่องออกจะมีการสาธิตการใช้อุปกรณ์ฉุกเฉิน ควรรู้ไว้หากมีเหตุฉุกเฉินจะได้ช่วยเหลือตัวเองได้

ทำความเข้าใจสัญลักษณ์ต่างๆ บนเครื่องบิน เช่น 
          - เครื่องหมายรัดเข็มขัดเปิดอยู่ ซึ่งจะอยู่ตรงเหนือศรีษะ ถ้าแสดงไว้ต้องรัดเข็มขัด จะลุกจากที่นั่งไม่ได้ แต่ถ้าไฟปิดคุณสามารถลุกจากที่นั่งได้                 
          - ปุ่มขอความช่วยเหลือ จะมีรูปคน ถ้ากดปุ่มนี้ พนักงานจะเดินมาหาแล้วถามว่าคุณต้องการความช่วยเหลืออะไร อย่าเผลอกดถ้าไม่ต้องการความช่วยเหลือ เดี๋ยวหน้าแตก
          - ปุ่มเอนพนักพิง ก่อนเอนพนักพิง ควรตรวจสอบผู้โดยสารที่นั่งด้านหลังคุณด้วย
          - ปุ่มเสียบหูฟัง เอาไว้ดูหนังฟังเพลง ถ้ามีจอส่วนตัว สามารถเลือกหนัง ฟังเพลง เล่นเกมส์เองได้ หน้าตาคล้ายๆรีโมททีวีบ้านเรา
         - ปุ่มรูปไฟ ปุ่มนี้เปิดเพื่อความสว่าง เช่น อ่านหนังสือ          
         - ปุ่มไฟเขียวหน้าห้องน้ำบนเครื่องบิน หมายความว่า ห้องน้ำว่าง หน้าประตูหน้าน้ำจะเขียนว่า Vacant ให้ผลักหรือเปิดประตูเข้าไป เมื่อเข้าห้องน้ำแล้ว ให้ล็อคประตูด้วย เพื่อให้ไฟในห้องน้ำติด ถ้าไฟไม่ติด แสดงว่าเรายังไม่ได้ล็อคห้องน้ำ อาจมีคนผลักเข้ามาได้
          -ปุ่มไฟแดงหน้าห้องน้ำ หมายความว่า ห้องน้ำไม่ว่าง Occupy ให้รอคิวหรือมองหาห้องอื่น   

          บนเครื่องก็จะมีบริการอาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนการขายสินค้าปลอดภาษี เมื่อใกล้ถึงที่หมายเจ้าหน้าที่ก็จะให้คุณกรอกเอกสารคนเข้าเมือง Entry Card  ควรกรอกรายละเอียดทั้งหมดบนเครื่องให้เรียบร้อย เพราะเมื่อคุณลงจากเครื่องแล้วจะต้องต่อคิว ในด่านตรวจคนเข้าเมืองซึ่งยาวมาก อย่าเสียเวลาในการกรอก Entry Card ตอนลงสู้พื้นดิน

เดินออกจากเครื่อง ไปยังจุดตรวจคนเข้าเมือง
       1.  ดูป้าย Arrival แปลว่า ผู้โดยสารขาเข้า ต้องไปตามป้ายนี้เท่านั้น  ถ้าเห็นป้าย Transit or Transfer เป็นป้ายสำหรับผู้โดยสารต่อเครื่อง
       2   เมื่อมาถึงจุดตรวจคนเข้าเมือง Immigration Control
       3.  จุดตรวจคนเข้าเมืองจะแยกเป็น 2 ส่วน คือ 
            1. UK passport สำหรับชาวอังกฤษ กับ EU passport สำหรับคนที่มาจากสหภาพยุโรป (ประกอบด้วยรัฐสมาชิก 28 ประเทศ ส่วนใหญ่ในทวีปยุโรป)
            2. Non UK Passport ผู้ที่ไม่ใช่ชาวอังกฤษ กับ Non Resident สำหรับคนที่ไม่ได้อาศัยในอังกฤษ (มาท่องเที่ยว)
       4. ระหว่างเข้าคิวรอ เตรียมเอกสารให้พร้อม Passport หนังสือเดินทาง Entry Card เอกสารคนเข้าเมืองที่กรอกบนเครื่องเรียบร้อยแล้ว ตลอดจนเตรียมเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ เช่น จดหมายเชิญจากคนอังกฤษ ที่อยู่ที่คุณจะไปอยู่อาศัย หรือโรงแรมที่คุณพักอยู่ เอกสารยืนยันการศึกษา (กรณีศึกษาต่อ) ฯลฯ
       5.พอถึงคิว ให้ยื่น Passport และ Entry Card หากเจ้าหน้าที่ต้องการเอกสารเพิ่มก็ยื่นให้ เช่น จดหมายเชิญ เจ้าหน้าที่จะดูรูปในหนังสือเดินทางพร้อมกับกล้องตัวเล็กๆ ให้คุณมองที่กล้อง เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ดูเปรียบเทียบว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันหรือไม่
       6.เมื่อผ่านขั้นตอนที่ 5 ให้ไปรอรับกระเป๋า ที่จุด Baggage ดูตามป้ายบอก
       7.มาถึงจุดรับกระเป๋า ดูที่จอมอนิเตอร์ว่ากระเป๋าคุณอยู่ที่สายพานไหน ในจอจะระบุ สายการบิน เที่ยวบินอะไร บินมาจากไหน ตัวอย่างเช่น  Thai Airways TG916 From Bangkok line 9 หมายความว่าคุณต้องไปรอรับกระเป๋าที่สายพานที่ 9 นั่นเอง
        8. ใช้รถเข็นเพื่อความสะดวก คือเอากระเป๋าทุกใบใส่ในรถเข็น จะได้ไม่ต้องลำบากลากหลายใบ เมื่อออกมาผ่านด่านจุดตรวจกระเป๋า (หากหากระเป๋าไม่เจอ แจ้งเจ้าหน้าที่แล้วแสดง baggage claim  หากกระเป๋าสูญหาย ทางสายการบินจะส่งกระเป๋าไปให้คุณถึงบ้านตามที่อยู่ที่คุณเขียนไว้บนกระเป๋าก่อนออกเดินทาง)
        9.เดินออกนอกสนามบิน ต้องผ่านเจ้าหน้าทีด่านศุลกากร (เสียภาษี) ให้เดินช่องสีเขียว Nothing to declare (ไม่มีของต้องสำแดง) ต้องเข้าช่องสีเขียวเท่านั้น
       10.หากเดินเข้าช่องสีแดง แสดงว่าเรามีของสำแดงให้เจ้าหน้าที่ดู จะถามว่ามีของสำแดงไหม และต้องแสดงให้เจ้าหน้าที่ดู
       11. มองป้ายสีเขียวแล้ว ดูทางออก Exit ถ้าเห็นเจ้าหน้าที่เรียกใครก็ตาม ที่ไม่ใช่เรา ขอค้นกระเป๋าเขา ให้เราเดินของเราตามปกติ ไม่ต้องไปต่อแถวให้เขาค้น เพราะเขาจะเรียกเป็นรายบุคคล ไม่ได้ขอค้นทั้งหมด ถ้าเขาไม่ได้เรียกเรา ให้เดินออกมาตามปกติ
      12. เมื่อเดินออกมาแล้ว ก็จะมองหาคนที่จะมารับคุณ จบการผจญภัยที่ตื่นเต้นและแล้วคุณก็ผ่านมาจนได้ ไชโย !

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ มีความสุขกับการเดินทาง รู้จักสังเกตุผู้ร่วมเดินทางอย่างฉลาดและไม่ขาดเฉลียว พูดคุย สอบถาม หากมีข้อสงสัย กับเจ้าหน้าที่หรือเพื่อนร่วมทางถือว่าเป็นการเรียนรู้ และทำให้การผจญภัยมีรสชาดมากยิ่งขึ้น Good luck everyone :)


Thursday, 3 July 2014

เรียนในอังกฤษ

          พื้นฐานของระบบการศึกษาใน England จะคล้ายคลึงกับใน Wales และ Northern Ireland ยกเว้น Scotland ที่มีระบบการศึกษาเป็นของตนเองต่างหาก
School in England
โรงเรียนจะเปิดให้เข้าออกเป็นเวลา ไม่เปิดประตูทิ้งไว้ค่ะ

          เด็กนักเรียนประมาณ 95% จะเรียนโรงเรียนของรัฐบาล (เรียนฟรี) อีก 5% สำหรับผู้ปกครองที่มีฐานะดีมักจะส่งลูกหลานของตัวเองเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชน  ส่วนนักเรียนต่างชาตินั้นมีสิทธิลงเรียนในโรงเรียนเอกชนเท่านั้น (เสียเงินเรียน) 
            
          การศึกษาภาคบังคับเริ่มตั้งแต่ 5-16 ปี เด็กอังกฤษทุกคนต้องเรียนหนังสือ เป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่ต้องส่งลูกเรียน ถ้าไม่ปฏิบัติตามมีความผิดตามกฎหมาย

หมายเหตุ ในปี 2014 ได้มีการ up date ระบบการศึกษาเพิ่มเติมกรณีการศึกษาภาคบังคับ
                  รายละเอียดตามลิงค์  https://www.gov.uk/know-when-you-can-leave-school

           เรามาเริ่มต้นตั้งแต่เด็กเล็กกันค่ะ จะขอกล่าวถึงกรณีเด็กลูกครึ่งบริติชไทยนะค่ะ กรณีลูกสาวหรือลูกชายของคุณคลอดในอังกฤษและได้สัญชาติบริติชเรียบร้อยแล้ว ก็มีสิทธิเหมือนเด็กนักเรียนอังกฤษทุกอย่าง  โดยมากเด็กที่นี่จะเริ่มเข้าโรงเรียนอนุบาล (Nursery) ใกล้บ้าน เหมือนกับจองโรงเรียนไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ 2 ขวบเลยก็ว่าได้ เด็กเล็ก 2-4 ขวบ จากนั้น 4-5 ขวบเลื่อนชั้น YR (Year Receptions) 1 ปี 

         จากนั้นก็เข้าสู่ระบบการศึกษาภาคบังคับ โดยมีภาคเรียนเริ่มต้นในเดือนกันยายนและสิ้นสุดปลายเดือนกรกฎาคมของปีถัดไป โดยแบ่งเป็น 3 ภาคเรียน คือ 
         1. Autumn Term ช่วงประมาณเดือนกันยายนถึงปลายเดือนธันวาคม
         2. Spring Term ช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงปลายมีนาคมหรือต้นเมษายน
         3. Summer Term ช่วงประมาณกลางเดือนเมษายนถึงปลายเดือนกรกฎาคม

ระดับการศึกษา

1. ประถมศึกษา Primary school  Year 1 - Year 6 อายุ 5-11 ปี (คล้ายๆกับ ป.1-ป.6 บ้านเรา) 
    
    Year 1 กับ Year 2 เรียกว่า Infants
    Year 3 ถึง Year 6 เรียกว่า Juniors  
    ในระดับประถมศึกษานักเรียนจะได้เลื่อนชั้นจาก Year 1 ถึง Year 6 โดยไม่ต้องสอบ แต่จะมีการทดสอบความสามารถของเด็กเมื่ออายุ 7 ขวบ

2. ระดับมัธยม form ในอังกฤษ form หมายถึง ชั้นปีที่เรียน ของเด็กนักเรียนระดับมัธยม ที่ต่อจาก Primary school

    first form      อายุ 12 ปี (ม.1)
    second form อายุ 13 ปี (ม.2)
    third form     อายุ 14 ปี (ม.3)
    fourth form   อายุ 15 ปี (ม.4)
    fifth form      อายุ 16ปี (ม.5) จบแล้วออกมาแล้วไปทำงานได้เลย
    sixth form     อายุ 17 & 18  ใช้เวลาเรียน 2 หรือ 3 ปี เพื่อนเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย

เมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาระดับ fifth form แล้ว  (ม.5) นักเรียนจะเริ่มเตรียมตัวสอบ General Certificate Secondary Education หรือ GCSE หรือสอบไล่ของ fifth form ณ ตอนนั้นเด็กนักเรียนจะอายุ 16 ปี นั่นเอง และเด็กนักเรียนสามารถนำผลสอบ GCSE ไปแสดงต่อนายจ้างเพื่อเข้าทำงาน หรือเพื่อไปเรียนต่อโรงเรียนอาชีวศึกษา หรือเพื่อเข้าเรียน sixth form college ต่างๆ ซึ่งนักเรียนที่อายุ 16 ปี จะต้องสอบ GCSE ทุกคน ไม่ว่าจะไปเข้าเรียนต่อ sixth form เพื่อสอบเอา A -Level และเข้ามหาวิทยาลัยต่อหรือไม่ก็ตาม  โดยทั่วไป นักเรียนที่ประสงค์เข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยจะเตรียมสอบ A-Level สามหรือสี่วิชา ยิ่งได้คะแนนสอบสูงเท่าใด โอกาสที่จะได้เข้ามหาวิทยาลัยก็ยิ่งสูงเท่านั้น

A-Level (Advanced level) หมายถึงการสอบวัดผลในวิชาหลักสำหรับนักเรียนที่มุ่งจะเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย สอบเมื่อเรียนจบระดับ sixth form (ซึ่ง form นั้นต้องใช้เวลาเรียนไม่ต่ำกว่า 2 ปีและอายุครบ 18 ปี) การสอบ A level เป็นเงื่อนไขหรือคุณวุฒิที่มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเป็นตัวกำหนดในการพิจารณารับให้เข้าเรียนในสาขาวิชาหนึ่งวิชาใดจะต้องสอบผ่าน A level วิชาหลักที่สอนกันเป็นพิเศษใน sixth form ได้อย่างน้อย 2 หรือ 3 วิชาหลัก เป็นต้น

3. ปริญญาตรี หลักสูตรปริญญาตรีในอังกฤษใช้เวลาเรียน 3 ปี และมีการสอบปลายภาคก่อนจบการศึกษา สำหรับนักศึกษาต่างชาติมีเกณฑ์การสอบเข้าคือมีทักษะ ด้านภาษาอังกฤษ (ขั้นต่ำ IELTS 6.0) และอีกหนึ่งปีการศึกษาระดับมัธยมปลายเพื่อเตรียมความพร้อมเข้ามหาวิทยาลัยหรือ University Foundation Year

4. ปริญญาโท MBA และ ปริญญาเอก (ขอไม่กล่่าวในรายละเอียดนะคะ)

preschool เป็นการเรียนรู้เริ่มต้นของเด็กก่อนวัยเรียน มีจุดหมายเพื่อส่งเสริมให้เด็กอายุระหว่าง 2-5 ปี ได้เรียนรู้การเล่นและพัฒนาการ จะเริ่มจากการเรียนรู้ที่บ้านของเด็กก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ primary school

comprehensive school เป็นโรงเรียนมัธยมทั่วไปของรัฐบาล และไม่ต้องมีการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าเรียนแต่อย่างไร

grammar school เป็นโรงเรียนหลวงระดับมัธยมประเภทพิเศษ ที่จะต้องมีการสอบเข้าเรียนต่อจากระดับประถม เรียกการเข้าเรียนดังกล่าวว่า test into  เด็กที่เข้าเรียนได้ จะต้องมีคะแนนสูงกว่าปกติ สูงกว่าตอนที่สอบประถมปลาย 11-plus exam อาจเรียกได้ว่าเป็นโรงเรียนเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยก็ได้

public school เป็นโรงเรียนราษฎร์สำหรับลูกหลานคนชั้นสูงหรือคนที่ร่ำรวย โดยเก็บค่าเล่าเรียนและต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งแพงมาก ถึงแม้จะใช้คำว่า public แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่โรงเรียนหลวงหรือโรงเรียนของรัฐบาลแต่อย่างใด อีกทั้งไม่ใช้โรงเรียนที่เปิดรับลูกหลานคนทั่วไปเข้าเรียนด้วย ใครที่ผ่าน public school มาแล้วส่วนใหญ่ก็จะสามารถเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดหรือเคมบริดจ์