Monday, 30 June 2014

สิ่งเล็กๆน้อยๆ ที่แตกต่างระหว่างคนอังกฤษกับคนไทย

                 จากประสบการณ์ที่มาอยู่ในอังกฤษ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องปรับตัว ไม่ว่าจะด้านภาษา สภาพอากาศ การแต่งกายออกนอกบ้านต้องเตรียมตัวอย่างไร ตลอดจนวิถีการดำรงชีวิตที่แตกต่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ประหลาดใจอย่างมากในช่วงแรกๆ ที่มาอยู่ในอังกฤษ
British garden
สวนหลังบ้านของคนอังกฤษ

          1. เริ่มต้นเมื่อคุณเดินเข้าไปในบ้านคนอังกฤษ คนอังกฤษส่วนใหญ่จะใส่รองเท้าเข้าในบ้าน จะไม่ถอดรองเท้าไว้หน้าประตูเหมือนที่ไทย พวกเขายังสวมใส่รองเท้าในบ้านตลอดเวลาด้วย แต่ก่อนที่จะเข้าไปในบ้านต้องมั่นใจว่าได้เช็ดเท้าสะอาดหรือยัง แต่ยังไงเสียคงไม่สะอาดเหมือนกับเราเข้าบ้านด้วยเท้าเปล่าหรอกค่ะ ในพื้นบ้านส่วนใหญ่จะปูด้วยพรม เพราะอากาศที่หนาวเย็นถ้าปูพรมทำให้อบอุ่นขึ้น 

          2. คนอังกฤษใช้เท้าชี้สิ่งของต่างๆ ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา อันนี้ตรงกันข้ามกับคนไทยเราเลย ครั้งแรกเจอกับตัวเองโกรธมาก เพราะถ้าเป็นบ้านเราถือว่าไม่ให้เกียรติกันอย่างแรง แต่พวกเขาไม่ถือ อีกอย่างเวลาเดินผ่านหน้าผู้ใหญ่ เราจะก้มตัวอย่างนอบน้อม แต่ที่นี่ถ้าคนอังกฤษเห็นเขางงค่ะ เขาไม่เข้าใจว่าเราทำอะไร ทำไมถึงก้มตัว แหม..อุตสาห์มารยาทดีแต่ดันไม่เข้าใจเสียอีก

          3. การแต่งกาย พวกเขาจะแต่งกายสุภาพเสมอ ถึงแม้จะไม่ได้ออกไปนอกบ้านก็ตาม ถ้าเขาเห็นคุณใส่ชุดนอนระหว่างวัน ถือว่าผิดปกติและไม่ถูกกาลเทศะ ยังงี้ก็มีด้วย ก็เราอยู่ในบ้านของเราแท้ๆ 
          
          4. การอาบน้ำ เท่าที่สอบถามจากคนอื่นๆ ที่รู้จัก คนอังกฤษจะไม่อาบน้ำทุกวัน เนื่องจากอากาศที่หนาวเย็น ไม่มีเหงื่อมาก และค่าน้ำที่อังกฤษแพงมาก ข้อนี้เคยยอมรับไม่ได้เพราะบ้านเรา เช้าเย็นเราต้องอาบน้ำ แต่พออยู่นานๆไป วันละครั้งก็โอเคค่ะ ก็อากาศมันเย็นจริงๆ

           5.ห้องน้ำในอังกฤษ แตกต่างกับไทยคือ ไม่มีที่ฉีดก้น  โธ่ ! หากคุณจะปลดทุกข์แล้วมันจะสะอาดไหมเนี่ย และจากประสบการณ์ที่ไปเที่ยวในยุโรป ห้องน้ำในที่สาธารณะ โรงแรม ไม่มีที่ฉีดก้นค่ะ รวมถึงที่อเมริกาด้วย ไหนๆก็เป็นสะใภ้อังกฤษแล้ว เข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตามค่ะ

          6. การล้างจาน คนอังกฤษจะล้างจานโดยใส่น้ำยาล้างจานผสมกับน้ำร้อน แช่จาน ช้อน ซ้อม ฯลฯ ลงไปในกะละมัง แล้วทำความสะอาดจาน โดยไม่มีการล้างฟอกออก เสร็จแล้วก็จะคว่ำจานและเช็ดจานจนสะอาด การที่เขาไม่ล้างฟอกน้ำยาล้างจานออกนั้น เพราะเขาถือว่าน้ำร้อนได้ฆ่าเชื้อโรคทุกอย่างแล้ว ส่วนตัวเองยังค่อยไม่แน่ใจกับวิธีการนี้ จึงใช้น้ำร้อนผสมน้ำยาล้างจาน และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกรอบมั่นใจกว่า ข้อดีคือถ้าใช้น้ำร้อนล้างจานและเช็ด จานจะแห้งเร็วมาก แต่ข้อเตือนอย่างหนึ่งค่ะ คือ อย่าลืมใส่ถุงมือสำหรับล้างจานด้วยนะค่ะ ถ้าไม่อยากให้น้ำมันร้อนลวกมือ ถุงมือจะบรรเทาความร้อนถึงไม่ร้อยเปอร์เซนต์ก็ตาม นอกนั้นยังช่วยถนอมมือไม่ให้แห้งกร้านด้วยค่ะ

            7. การเรียกมื้ออาหารที่ทำให้เกิดความสับสน สืบเนื่องจากแบ่งชนชั้นอังกฤษในสมัยก่อน จึงเรียกมื้ออาหารแตกต่าง   โดยทั่วไปอาหารเช้า (breakfast) อาหารเที่ยง (lunch) อาหารเย็น (dinner)         
คนอังกฤษเรียกมื้ออาหารแปลกๆ มื้อเช้าเรียก breakfast มื้อเที่ยงบางคนเรียก lunch บางคนเรียก dinner พอช่วงบ่ายแก่ๆจะทานของว่างกับชาหรือกาแฟ ก็จะเรียก tea break ที่คนไทยเรารู้จักกันดีคือ coffee break (ช่วง3-4โมงเย็น) มื้อเย็นเรียก dinner หรือ tea time(evening tea) หรือ dinner ถ้าหลังมื้อเย็นอาจทานอะไรเบาๆเรียก supper 
                  8. คนอังกฤษจะมีความเป็นส่วนตัวสูง สังเกตุสวนของคนอังกฤษจะสวยงามมาก แต่ไม่ค่อยโชว์ให้เห็นตรงบริเวณหน้าบ้าน ส่วนใหญ่จะอยู่หลังบ้าน เก็บไว้เชยชมคนเดียว แบบนี้ก็มีด้วย

Saturday, 28 June 2014

การรักษาพยาบาลในอังกฤษ

           National Health Service (NHS)  เป็นระบบการรักษาพยาบาลในอังกฤษ ที่ดูแลผู้ป่วยในอังกฤษทั้งด้านร่างกายและจิตใจ จ่ายโดยภาษีของประเทศ การรักษาพยาบาลฟรี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่คุณต้องจ่ายค่ายาและค่าดูแลรักษาฟันบางอย่าง  ถ้าต้องการรักษาเป็นการส่วนตัวก็ทำได้เหมือนกัน แต่ผู้จ่ายจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองทั้งหมด
NHS


         สำหรับคนไทยที่เข้ามาอาศัยในอังกฤษ ควรรีบลงเบียน  Register กับ GP Surgery ใน area ที่คุณอาศัยอยู่ ไม่ว่าคุณจะมาด้วยวีซ่านักเรียนหรือวีซ่าติดตามคู่สมรสก็ตาม ขั้นตอนการลงทะเบียน  อย่ารอให้ป่วยก่อนแล้วค่อยไปลงทะเบียน เพราะคุณต้องรอจนกว่าขั้นตอนการลงทะเบียนเสร็จ กว่าข้้นตอนจะเสร็จก็หายป่วยพอดี เพราะที่อังกฤษถ้าไม่สบายจะซื้อยาจากร้านขายยาเองไม่ได้ จะต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น ยาที่ซื้อได้ก็แค่ยาพาราเซตามอนเท่านั้น และต้องซื้อในปริมาณที่จำกัดด้วย คุณจะเดินเข้าไปหาหมอแล้วขอตรวจอาการป่วยเลยไม่ได้ ต้องโทรนัดก่อน ถึงแม้ว่าได้ลงทะเบียนแล้วก็ตาม และต้องตรวจสอบเวลาที่จะโทรนัดใน GPs ที่คุณเลือกไว้ด้วย เช่น เวลาโทรนัดก่อน 9 โมงเช้า ก็ต้องโทรตามนั้น แต่ถ้าโทรหลังจากนั้นก็ต้องรอเวลานัด 1-2 สัปดาห์ถึงจะได้เจอหมอ 
                    
          กรณีไม่สบาย โทรนัดตามเวลาที่แต่ละ GPs กำหนด ควรไปถึงก่อนเวลานัด 5-10 นาที เมื่อไปถึงคุณต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เค้าน์เตอร์ให้รับทราบว่าคุณได้มาตามนัดแล้ว เสร็จแล้วนั่งรอพบหมอ หากตรวจพบว่ามีอาการหนัก หมอก็จะส่งตัวคุณไปที่โรงพยาบาลหรือพบแพทย์เฉพาะทางต่อไป

         เมื่อคุณหมอตรวจอาการป่วยของคุณแล้ว ก็จะออกใบสั่งยาให้ Prescriptions แพทย์จะไม่จ่ายยาให้คุณโดยตรง คุณต้องนำใบสั่งยานั้นไปรับยาจาก Pharmacy ใกล้บ้านคุณ หรือ ร้าน Boots ก็ได้ จากนั้นก็รอรับยา โดยเจ้าหน้าที่รับจ่ายยาจะถามที่อยู่หรือวันเดือนปีเกิดของคุณ เพื่อเป็นการเช็คว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน

           หากคุณไม่สามารถไปตามนัดได้ ควรแจ้งให้ GPs ทราบ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียสิทธิของผู้ป่วยรายอื่น
     
      การรักษาพยาบาลฟรีทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด เอกซเรย์ ตรวจเลือด ฯลฯ แต่คุณต้องเสียค่ายา และค่าใบสั่งยา (Prescriptions)£8.05 ด้วย   ส่วนการรักษาฟัน จะแยกต่างหากจากการรักษาโรคทั่วไป ซึ่งคุณต้อง Register กับหมอฟันใกล้บ้านของคุณด้วยเช่นกัน อันนี้ก็สำคัญ อย่ารอให้ปวดฟันก่อนแล้วค่อยลงทะเบียน อย่างที่เรารู้กัน ถ้าเราปวดฟันขึ้นมามันทรมานมาก


ผู้มีสิทธิ์ได้รับการรักษาพยาบาลฟรี (ฟรีทุกอย่าง) who is entitles to free prescriptions)
      - ผู้ที่อายุ 60 ปี หรือมากกว่า
      - ผู้ที่อายุน้อยกว่า 16 ปี
      - ผู้ที่อายุ 16-18 ปี ที่เรียนเต็มเวลา
      - ผู้ที่ตั้งครรภ์ และหลังคลอดบุตรไม่เกิน 12 เดือน
      - ผู้ที่มีโรคเฉพาะทาง โดยอยู่ในเงื่อนไขที่แพทย์ระบุไว้
      - ผู้ที่ต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล เช่น คนพิการ
   
          เมื่อได้รับอุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือเจ็บป่วยที่รุนแรง  สามารถไปรักษาที่โรงพยาบาลที่ใกล้บ้านที่สุด โดยไปที่แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาล โดยไม่ต้องผ่าน GPs หากอาการหนักมากไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ให้โทร 999 เรียกรถฉุกเฉิน


หมายเหตุ : Immigration health surcharge : information for migrants NHS Surcharge update 19/3/15  ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่  6/4/15 สำหรับผู้ที่ยื่นขอวีซ่าเข้ามา UK มากกว่า 6 เดือน และผู้ทีอาศัยอยู่ใน UK แล้ว และจะขอต่อวีซ่าชั่วคราว (FLR) ต้องจ่ายค่าบริการNHS £200 ยกเว้นผู้ที่จะขอ Indefinite Leave to Remain(ILR) ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ


Thursday, 19 June 2014

กว่าจะได้สัญชาติอังกฤษ(บริติช)

           กรณีผู้ที่สมรสกับคนอังกฤษ  เมื่อมาอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรหรือ UK ส่วนใหญ่เราขอสัญชาติเพื่อจะได้มีสิทธิ์มีเสียงและเป็นพลเมืองอังกฤษอย่างเต็มตัว แต่กว่าจะได้  British Passport  มาครอบครองหลายคนเลือดตาแทบกระเด็น หลายคนก็ได้มาง่ายแสนง่าย

          ขอเล่าโดยภาพรวมนะค่ะ ว่าเราได้สัญชาติมาได้อย่างไร จะไม่ขอลงลึกถึงรายละเอียด ขั้นตอนและเอกสารต่างๆ  เป็นเพียงการสรุปภาพกว้างๆ ว่าคุณจะเริ่มต้นอันไหนก่อนอันไหนหลัง 

          เริ่มตั้งแต่ขอวีซ่าเข้ามาใน UK โดยเราจะขอวีซ่าจากกงสุลอังกฤษประจำประเทศไทยที่กรุงเทพ เจ้าหน้าที่ที่กงสุลจะสอบถามในตอนสัมภาษณ์ว่าคุณต้องการเดินทางไปอังกฤษช่วงเวลาไหน เพื่อจะได้ระบุวันที่ในวีซ่าของคุณนั่นเอง ซึ่งจะมีผลต่อการนับระยะเวลาที่คุณอยู่ในอังกฤษด้วย วีซ่าที่คุณได้รับนั้นเรียกว่าวีซ่าแต่งงานหรือวีซ่าติดตามคู่สมรส

          เมื่อทำเรื่องขอวีซ่าผ่านแล้ว ก็เตรียมตัวเดินทางได้เลยค่ะ คราวนี้มาดูกันว่าเราจะขอสัญชาติอย่างไร
British passport


     1 . วีซ่าติดตามคู่สมรสที่ออกจากกงสุลอังกฤษประจำประเทศไทย        
 - กฎหมายเก่าก่อน 9 July, 2012 วีซ่าติดตามคู่สมรส 2 ปี 3 เดือน เมื่อวีซ่าใกล้หมดอายุ ต้องทำเรื่องยื่นต่อวีซ่าภายใน 28 วัน ก่อนที่วีซ่าจะหมดอายุ จากนั้น Home Office ก็จะออกวีซ่าถาวรให้ Indefinite Leave to Remain 

 - กฎหมายใหม่หลัง 9 July, 2012 วีซ่าติดตามคู่สมรส 2 ปี 9 เดือน เมื่อวีซ่าใกล้หมดอายุ ต้องทำเรื่องยื่นต่อวีซ่าภายใน 28 วัน ก่อนที่วีซ่าจะหมดอายุ จากนั้น Home Office ก็จะต่อวีซ่าให้คุณใหม่มีระยะเวลาอีก 2 ปี 6 เดือน หมายถึงคุณต้องต่ออายุวีซ่าทุก 2 ปีครึ่ง 
        
     2.  เมื่อทำเรื่องต่อวีซ่าได้แล้ว
  - กรณีกฎหมายเก่าก่อน 9 July, 2012 คุณสามารถใช้วีซ่าถาวร Indefinite Leave to Remain  และสามารถทำเรื่องขอสัญชาติได้เมื่ออยู่ครบ 3 ปี

  - กรณีกฎหมายใหม่หลัง 9 July, 2012 คุณต้องต่อวีซ่าจนกว่าจะได้รับวีซ่าถาวร Indefinite Leave to Remain แต่ต้องเป็นไปตาม Immigration Rules เมื่อคุณอยู่ครบ 5 ปี คุณสามารถทำเรื่องขอสัญชาติได้


          อย่างไรก็ตามสิทธิ์ที่คุณได้รับคือผู้อยู่อาศัยใน UK เท่านั้น คุณจะไม่ใช้พลเมืองเต็มขั้น และถ้าคุณต้องการออกไปนอกประเทศอื่นๆ คุณต้องขอวีซ่าเข้าประเทศนั้นๆ ด้วย และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราต้องขอสัญชาติ


     3.  การขอสัญชาติอังกฤษ คุณสามารถทำได้โดยยื่นเอกสารและ วีซ่าถาวรที่คุณได้รับ
  - กฎหมายเก่า ต้องอยู่ใน UK ครบ 3 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าในช่วงระยะเวลา 3 ปี คุณต้องไม่ออกจาก UK เกิน 270 วัน และในระยะเวลา 12 เดือนสุดท้ายที่ยื่นเรื่องขอสัญชาติ คุณต้องไม่ออกจาก UK เกิน 90 วัน ถ้าคุณไม่สามารถทำตามข้อกำหนดนี้ได้ คุณไม่มีสิทธิ์ขอสัญชาติ ต้องรอจนกว่าจะเข้าเงื่อนไขที่กำหนด

 - กฎหมายใหม่ ต้องอยู่ใน UK ครบ 5 ปี  โดยมีเงื่อนไขว่าในช่วงระยะเวลา 5 ปี คุณต้องไม่ออกจาก UK เกิน 450 วัน และในระยะเวลา 12 เดือนสุดท้ายที่ยื่นเรื่องขอสัญชาติ คุณต้องไม่ออกจาก UK เกิน 90 วัน ถ้าคุณไม่สามารถทำตามข้อกำหนดนี้ได้ คุณไม่มีสิทธิ์ขอสัญชาติ ต้องรอจนกว่าจะเข้าเงื่อนไขที่กำหนด


       ส่วนอีกเงื่อนไขหนึ่งทั้งกฎหมายเก่าและใหม่ คุณต้องมีประวัติที่ดี ไม่ทำผิดกฎหมายคนเข้าเมือง แสดงให้เห็นว่าคุณมีความสามารถในติดต่อสื่อสารภาษาอังกฤษได้   Prove your knowledge of English for citizenship and settling   และต้องผ่านการสอบ  life in the UK test  คือสอบการใช้ชีวิตใน UK โดยต้องอ่านหนังสือชีวิตในยูเคและฝึกทำแบบทดสอบ

หมายเหตุ: สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (UKBA) ได้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนการของการสอบภาษาอังกฤษเพื่อยื่นคำร้องขอวีซ่าต่างๆและขอสัญชาติอังกฤษ จะต้องเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับจาก Home Office เท่านั้น รายละเอียดตามลิงค์นี้ Applying for a UK visa : approved English language tests ซึ่่งได้มีการ up date ล่าสุดในวันที่ 20 February 2015 


    4. เมื่อคุณผ่านขั้นตอน 1-3 แล้ว ขั้นต่อไปทำเรื่องขอสัญชาติอังกฤษ (British citizen) ซึ่งคุณต้องไปสาบานตัว เพื่อจะเป็นพลเมืองที่ดีของอังกฤษ จากพระบรมฉายาลักษณ์ของพระราชินีอังกฤษ เมื่อได้สัญชาติมาแล้ว ก็ทำเรื่องขอ Passport และต้องไปสอบสัมภาษณ์จากเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของ Home Office เมื่อผ่านสัมภาษณ์แล้ว ก็รอรับ Passport โดยจะส่งทางไปรษณีย์


ข้อดีของ British Passport คือ สามารถท่องเที่ยวไปในประเทศต่างๆทั่วโลกได้ถึง 173 ประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่า คิดเป็น 80% ซึ่งอังกฤษถือว่าเป็นประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งในโลก


ข้อมูลเพิ่มเติม Become a British citizen


Wednesday, 11 June 2014

ผู้ดีอังกฤษ

     เรามักจะได้ยินดีจนคนหูว่าถ้าพูดถึงคนอังกฤษก็จะต้องนึกถึง ผู้ดีอังกฤษ มาดูกันซิว่าแบบฉบับของผู้ดีอังกฤษเป็นยังไง อังกฤษเป็นประเทศที่เก่าแก่และเคยรุ่งเรืองมานาน มีความเจริญหลายๆด้าน มีการปกครองแบบกษัตริย์และคนชั้นสูง มีขนมธรรมเนียมประเพณีที่คนไทยนำมาใช้และเป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งคนไทยสมัยโบราณได้ติดต่อคบหาสมาคมกับคนอังกฤษ จึงได้นำเอาวัฒนธรรมมาใช้ ด้านการแต่งการ การพูดจา มารยาทการรับประทานอาหาร ทำให้ดูดี มีมารยาททางสังคม จึงเป็นที่มาของคำว่า "ผู้ดีอังกฤษ" 

แบบฉบับของผู้ดีอังกฤษ
1. การแต่งกายสุภาพและเหมาะสมกับสถานที่ เช่นการเข้าร้านอาหาร โรงหนัง โรงละคร งานเลี้ยงสังสรรค์ งานศพ ฯลฯ

2. พูดจามีมารยาท คนอังกฤษจะพูด Please , Thank you , Sorry จนติดเป็นนิสัย เวลาเขาต้องการให้เราทำอะไรสักอย่างจะพูดในเชิงขอร้อง ไม่ได้ออกคำสั่ง และจะกล่าวขอบคุณเสมอ หากคุณทำอะไรผิดพลาดเช่นเดินชนโดยไม่ได้ตั้งใจก็จะรีบขอโทษทันที

3.มีความอดทนและไม่บ่น ไม่ว่าจะเจอบริการที่แย่ขนาดไหน เช่น ร้านอาหารบริการไม่ดี อาหารไม่ถูกปาก หรือสถานการณ์ที่ทำให้ไม่พอใจ พวกเขาก็จะไม่ปริปากบ่นหรือต่อว่า อีกอย่างที่คนอังกฤษอดทนมากคือการเข้าคิว ไม่ว่าจะต่อแถวขึ้นรถบัส จ่ายเงินซื้อของหรือสั่งอาหาร ถือเป็นธรรมเนียมและมารยาที่ควรทำเป็นนิสัย พวกเขาจะถือเรื่องนี้มาก และการแซงคิวถือเป็นเรื่องร้ายแรงของเขาทีเดียว และคุณก็จะถูกมองเหมือนตัวประหลาดในทันที  
มารยาทดีเกิน เข้าคิวขึ้นรถบัส
4. สุภาพและเงียบ คนอังกฤษโดยส่วนใหญ่แล้วจะมีความสุภาพ เช่นในร้านอาหาร ไม่ว่าพนักงานมารับเมนูสั่งอาหาร วางอาหาร เก็บจาน หรือแม้กระทั่งจ่ายเงินพวกเขาก็จะกล่าวขอบคุณในทุกสถานการณ์

5. การไม่เอาเปรียบใคร เช่นเวลาทานอาหารที่ร้านอาหารพวกเขาก็จะแชร์กันจ่าย

6. มีมารยาทในการรับประทานอาหาร ไม่มูมมาม ไม่ส่งเสียงดัง และพวกเขาจะสอนมารยาทในการรับประทานอาหารตั้งแต่เด็ก 

7. การตรงต่อเวลา ถ้าคุณนัดกับคนอังกฤษไว้ ไม่ว่าจะนัดที่บ้าน หรือนอกสถานที่ คุณต้องไปให้ตรงเวลา ถ้านัดกันที่บ้านก็ไม่ควรไปก่อนเวลามากนัก ควรไปก่อนเวลา 5-10นาที ไม่ควรมากไปกว่านั้น 

ลักษณะนิสัยของคนอังกฤษ
การใช้ชีวิตของคนอังกฤษ มีความเป็นระเบียบเรียบง่าย  คนอังกฤษเก็บอารมณ์ได้เก่ง จนดูเป็นคนเย็นชา และสงวนท่าทีไม่แสดงความรู้สึกออกมาให้เห็นอย่างโจ่งแจ้งในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นบนรถไฟ บนเรือ พวกเขามักจะไม่พูดจากับผู้โดยสารคนอื่นๆ  หรือแม้แต่ตามโรงหนัง โรงละคร คนไปชมไปฟังต้องเงียบ ไม่มีการตบมือโห่ร้อง ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็จะระงับอารมณ์ไว้

คนอังกฤษมีความสำรวม อดกลั้น และสุขุมเยือกเย็น รู้จักรั้งสติ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ล้มเหลวหรือสำเร็จ ไม่ว่าจะยามโกรธหรือสนุกก็จะไม่แสดงปฏิกิริยาออกมาให้เห็นเด่นชัด เขาจะพูดจานิ่มนวล มักจะพูดตรงไปตรงมา และเสียงดังเหมือนกับว่าโกรธกัน

คนอังกฤษมีนิสัยชอบอ่านหนังสือ ไม่ว่าจะในบ้านหรือนอกบ้าน พวกเขาจะชอบอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ พวกเขาจะสอนให้ลูกๆอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก จะสังเกตุเห็นบนรถไฟในลอนดอน พวกเขาจะไม่พูดคุยกันเลย และมักจะมีหนังสือพิมพ์ หรือหนังสือที่ตนชอบติดมือตลอด ช่วงเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว พวกเขาก็จะอ่านจากโน๊ตบุค หรือจากโทรศัพท์มือถือ

คนอังกฤษจะมีความสุขุมรอบคอม ประหยัดและคิดหน้าคิดหลัง ไม่ฟุ่มเฟือยหรือใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น สิ่งของเครื่องใช้ที่ซื้อมาใช้ในบ้าน ถึงแม้จะใช้งานมาแล้วแค่ไหนแต่ยังใช้ได้อยู่ ไม่มีวันที่พวกเขาจะเปลี่ยนใหม่ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ สิ่งของที่ซื้อมาใช้จะต้องดีตามที่โฆษณาไว้ ถ้าไม่ดีหรือไม่พอใจ สามารถส่งคืนได้ ในใบเสร็จรับเงินจะมีกำหนดระยะเวลาคืนของถ้าสินค้าที่คุณได้ไม่พอใจ โดยนำหลักฐานการซื้อไปแสดง ก็จะได้เงินคืนเต็มจำนวน หรือแลกกับของใหม่ตามความต้องการ

พวกเขาจะไม่นำปมด้อยหรือสิ่งผิดปกติหรือความไม่งามไม่ดีของคนอื่นมาสนทนา เช่นทักว่า อ้วน เตี้ย สูง ต่ำ ดำ ขาว เหม็น น่าเกลียด เพราะถือว่าเป็นการเสียมารยาท

ไม่ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวคนอื่น เช่นสั่งสอน หรือแสดงความเห็นว่าเราควรแต่งตัวแบบไหน ใช้ชีวิตอย่างไร

นอกจากนั้นพวกเขายังหลีกเลี่ยงการพูดจาส่อเสียด ก้าวร้าวรุนแรงทุกชนิดต่อหน้า เป็นการเสียมารยาท ไม่พอใจอะไรก็ควรสงบไว้ ทำให้คนชาติอื่นมองว่าคนอังกฤษชอบสวมหน้ากาก แต่โดยความจริงแล้วหมายความอย่างนั้นจริงๆ แต่ยังไงเสียก็ไม่มีใครรู้ว่าข้างในจิตใจว่าข้างในเขาคิดยังไง

คนอังกฤษไม่ค่อยแสดงอารมณ์หรือความรักชอบอย่างออกนอกหน้า และแน่นอน จะไม่แสดงกิริยาหยาบคายในที่สาธารณะ จะคงความสุภาพ สง่า เงียบขรึม จนเป็นเรื่องปกติ

การคุยโม้โอ่อวดเกี่ยวกับเรื่องตนเองหรือครอบครัว หรือแสดงความทะเยอะทยานจนเกินไป โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องเงินทอง จะได้รับการตำหนิว่าเป็นรูปแบบที่ไม่ดีเลย

คนอังกฤษรู้จักศิลปะในการพูดจา ไม่ให้เกินเลยขอบเขตอันควร จะไม่แสดงสิ่งที่ตัวเองชอบแบบออกนอกหน้าจนเกินไป  การกินอาหารเหลือจนต้องทิ้งขว้างถือว่าเสียมารยาท

คนอังกฤษไม่ชอบ เรื่องยุ่งจู้จี้จุกจิกกับคนแปลกหน้าหรือแม้แต่กับเพื่อนๆ ก็ชอบทำอะไรเงียบๆ ไม่ชอบยุ่งเรื่องของชาวบ้านมากนัก ทั้งนี้เพราะชอบความสันโดษและเคารพสิทธิและชิวิตส่วนตัวได้อย่างดี ไม่พยายามเปิดเผยรายละเอียดให้ใครรู้มากนักและเขาก็จะไม่ซักถามเรื่องส่วนตัวจากคนอื่นเช่นกัน เป็นการยากมากที่จะสามารถเดาได้ว่าเขามีความคิดเห็นส่วนตัวอย่างไร หรือมีความเชื่อในสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างไร จะเก็บไว้ในใจไม่บอกหมด นี่เป็นธรรมชาติที่แท้จริงของเขา

ในแบบฉบับผู้ดีอังกฤษนั้นเป็นเพียงลักษณะภายนอกที่เรามองเห็น และเป็นสิ่งที่พวกเขาปฏิบัติกันมา เช่นการเข้าคิว การตรงต่อเวลา การแต่งกายสุภาพ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ดีอังกฤษนั้นดีไปเสียทั้งหมดทุกคน เพราะกาลเวลาเปลี่ยนไป วัยรุ่นที่อังกฤษไม่ให้ความเคารพผู้ใหญ่เท่าที่ควร ถ้าเปรียบไปแล้วก็เหมือนกับคนไทยเรา ที่เมื่อก่อนที่ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ในปัจจุบันหาดูได้ยากเหมือนกัน หรือบางคนอาจกล่าวว่า ผู้ดีอังกฤษกลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว ไม่มีใครรู้ ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์นะค่ะ


ถึงแม้ว่าคนอังกฤษจะเป็นคนที่เดาใจได้ยาก แต่เมื่อคบหากันเป็นเพื่อนกับคนอังกฤษแล้ว ค่อนข้างจะมีความจริงใจและยืนนาน เพียงแต่ว่าต้องใช้เวลานานพอสมควร

Monday, 9 June 2014

หาแฟนต่างชาติ

      สำหรับใครที่กำลังหาสามีต่างชาติ มาดูกันว่าพวกเขาเจอกันอย่างไร เมื่อก่อนคนส่วนมากมักจะหาแฟนต่างชาติด้วยวิธี ไปทำงานตามร้านอาหาร ตามผับ บาร์ ตามแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ จากเพื่อนแนะนำให้รู้จัก หรือจ้างให้คนอื่นติดต่อให้ ฯลฯ ทำให้พบเจอกับฝรั่ง  ปัจจุบันโลกออนไลน์ทำให้หาแฟนต่างชาติได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะทางเวปไชร์หาคู่ หรือการโฆษณาจากตัวแทนเจ้าของเวปไชร์ทั้งหลาย ซึ่งตัวแทนเวปไชร์จะติดต่อฝรั่งให้คุณรู้จัก ติดต่อกันทางอีเมล์ ถ้าพูดคุยกันถูกคออาจถึงขึ้นนัดเจอและแต่งงานในที่สุด บางคนก็โชคดีได้คนที่รักและใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข แต่บางคนก็เจอคนไม่ดี มีทุกที่อย่าคิดว่าฝรั่งดีไปเสียทุกอย่าง ฝรั่งไม่ได้รวยทุกคน เพราะฝรั่งก็ต้องทำงานเลี้ยงตัวเองเหมือนเรานี่แหล่ะ ฝรั่งที่ล้มเหลวในชีวิตก็มี เรามักจะคิดว่าฝรั่งรวยเพราะเราเทียบกับค่าเงินบาทกับเงินปอนด์ คือ 1ปอนด์เท่ากับ50บาทบ้านเรา แต่อย่าลืมรายจ่ายที่เค้าต้องจ่ายเป็นเงินปอนด์ด้วยนะคะ ที่อังกฤษข้าวของทุกอย่างแพง ค่าอาหารการกิน ที่อยู่อาศัย ค่าเช่าบ้าน หรือถ้าฝรั่งคนไหนมีบ้านเขาก็ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถเหมือนคนไทยทุกอย่าง  
   
    ทำไมฝรั่งอยากได้ภรรยาคนไทย เพราะเขาอยากไปอยู่บ้านเราค่ะ ไม่ว่าจะสภาพอากาศ อาหารการกิน สะดวกสบายไปหมด ไม่ต้องเจอกับอากาศหนาวเย็นที่มืดเร็ว ทำกิจกรรมนอกบ้านก็แสนลำบาก ตลอดจนค่าครองชีพที่สูงเอามากๆ คนทำงานที่อังกฤษต้องเสียภาษีให้รัฐบาลของเขาเยอะมากเอาจนคนอังกฤษอยากไปหนีไปอยู่ประเทศอื่นซะอย่างงั้น 

      ส่วนคนไทยก็อยากมาอยู่อังกฤษ โดยส่วนตัวแล้วชอบประเทศอังกฤษครั้งแรกที่มาเห็น ถึงกับว่าหลงเสน่ห์กับความงามของธรรมชาติและสวยๆ ทุ่งเลี้ยงแกะ อังกฤษนอกเมืองจะสวยงาม มีระเบียบเรียบร้อย ตลอดจนตึกรามบ้านช่องความเจริญของเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ขอแนะนำสำหรับสาวๆที่อยากมีแฟนฝรั่งนะคะ คุณอาจให้เค้าพาคุณไปเที่ยวอังกฤษก่อน เราจะได้รู้ว่าแฟนคุณโสดจริงมั้ย  ดูว่าเขาสามารถดูแลคุณได้หรือไม่ 


    คนอังกฤษถ้ามีครอบครัวแล้วจะแยกออกมาสร้างครอบครัวต่างหาก แต่ก็ยังไปมาหาสู้พ่อแม่เหมือนกับครอบครัวไทยเรา สำหรับคนที่อยากมาอยู่อังกฤษถ้าเข้ามาอยู่แล้ว ก็ต้องปรับตัวหลายๆด้าน ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าสื่อสารกันไม่รู้เรื่องก็เป็นเรื่องยากที่จะมาอยู่ต่างแดน ถ้าคุณมีความพยายามที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่แรกๆอาจฟังไม่ค่อยรู้เรื่องเพราะเราไม่คุ้นสำเนียงแต่ความน่ารักของคนชาตินี้ก็จะพยายามเข้าใจเราให้จงได้  ด้านอาหาร สภาพอากาศ การเตรียมตัวออกนอกบ้าน ทุกอย่างถ้าเราเตรียมพร้อมก็จะใช้ชีวิตได้อย่างไม่กังวลมากนัก


      คนอังกฤษส่วนใหญ่จะมีความรับผิดชอบ ถ้าเป็นคนที่ทำงานเค้าจะรับผิดชอบต่อครอบครัวเต็มที่ ถ้าอายุ 18 ปีขึ้นไป เขาจะเป็นผู้ใหญ่และรับผิดชอบตัวเอง หางานทำเอง ไม่ขอเงินพ่อแม่ใช้ ตลอดจนผู้สูงอายุ พวกเขาจะช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด ไปชอปปิ้ง ไปธนาคาร ไปโรงพยาบาล ฯลฯ เมื่อลูกๆของพวกเขาไปมีครอบครัว สองปู่ย่า หรือตายายก็จะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันจนเสียชีวิตไปจากกัน หากคนใดคนหนึ่งเสียชีวิตก่อนแล้วไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ก็จะให้ลูกดูแล หรือบางรายที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้จะไปอยู่ home care  หรือ บ้านพักคนชรา ซึ่งมีคนดูแลพวกเขา แต่คงไม่มีพ่อแม่คนไหนที่อยากไปอยู่บ้านคนชราใช่ไหมค่ะ บางครอบครัวก็ถือว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด และพวกเค้าก็ต้องจ่ายค่าดูแลให้กับ home care ด้วยเช่นกัน  

ขับรถในอังกฤษ Driving in the UK

          รถในประเทศอังกฤษพวงมาลัยจะอยู่ด้านขวามือ และจะขับรถเลนซ้ายมือ ซึ่งเหมือนกันกับบ้านเรา คนอังกฤษได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่ขับรถสุภาพมากที่สุดในโลก พวกเขาจะปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด จะมีมารยาทมากในการใช้รถใช้ถนน และจะขับรถตามอัตราความเร็วที่กำหนดไว้ ตามถนนหนทางจะมีกล้องวงจรปิด เพื่อตรวจเช็คความเร็ว เพราะถ้าคุณขับรถเกินกว่า speed limit คุณก็จะโดนใบสั่ง โดยหักแต้ม 3 คะแนนและถูกปรับ 60ปอนด์ หรือถ้าคุณถูกหักแต้มคะแนนมากกว่า 3 แต้ม นอกจากถูกปรับแล้วยังต้องได้เข้าอบรมการขับรถด้วย แต่กรณีขับรถประมาทหรือเมาขณะขับโทษรุนแรงมากถึงขั้นยกเลิกใบอนุญาตขับขี่

          จะขับรถในอังกฤษได้ต้องมีใบอนุญาตขับขี่ และอายุไม่ต่ำกว่า 17 ปี รถยนต์ที่คุณซื้อมาต้องจดทะเบียนเป็นชื่อของตัวคุณเอง และคนอื่นๆ ญาติหรือเพือนฝูงจะไม่สามารถยืมรถคุณไปขับได้ และรถของคุณต้องมีประกันภัยด้วย ถ้าคุณไม่มีใบขับขี่บริษัทประกันภัยต่างๆจะไม่ยอมรับประกันภัยรถคุณ  กรณีสามีภรรยาหรือลูกที่ใช้รถร่วมกัน คนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของรถ ส่วนคนที่มีสิทธิขับรถต้องมีใบขับขี่และต้องซื้อประกันภัยด้วย  ถึงแหมว่าคุณมีใบขับขี่แต่ถ้าไม่มีประกันภัยก็ไม่สามารถขับรถบนท้องถนนด้วยเช่นกัน
driving in the UK
Roundabout
          กรณีที่คุณมีใบขับขี่จากไทย คุณสามารถขับรถในอังกฤษได้ในหนึ่งปีแรก โดยอนุโลมให้ใช้ใบขับขี่ในประเทศของตน หรือใบขับขี่สากล International Driving Permit ซึ่งถ้าเข้าปีที่สองแล้วต้องยื่นขอใบขับขี่อังกฤษ ซึ่งต้องสอบข้อเขียนและสอบขับรถ ค่าสอนขับรถชั่วโมงละ 20 ปอนด์หรือมากกว่านั้น
          คนที่หัดขับรถหรือช่วงรอให้ใบผ่านขับขี่จะติด  L-plate รถบางคันติดป้าย L ไว้ที่รถแสดงว่าคุณกำลังหัดขับรถ และคุณจะไม่สามารถขับรถคนเดียวได้ ต้องมีคนที่มีใบขับขี่เกิน 3 ปี นั่งข้างๆคุณ หรือคุณจะใช้รถของครูสอนก็ได้ เมื่อคุณผ่านสอบข้อเขียน ผ่านสอบขับรถแล้วก็จะได้ใบขับขี่และใช้รถบนท้องถนนได้อย่างสบายใจ แต่บางคนพึ่งได้ใบขับขี่ใหม่ยังไม่คุ้นกับการขับคนเดียว คนอาจติด P-plate ซึ่งหมายถึง คุณพึ่งผ่านจากการสอบใบขับขี่ เพื่อเตือนให้ผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆได้รู้ว่าคุณมือใหม่หัดขับนะ ถ้าฉันช้าอย่าบีบแตร์ใส่ฉันให้ตกใจ จนทำอะไรไม่ถูก

          เจ้าของรถจะต้องชำระ road tax ค่าที่คุณนำรถไปวิ่งบนถนนที่รัฐบาลลงทุนสร้างค่ะ ต้องจ่ายทุกคัน นอกจากนั้นก็ต้องทำประกันภัยอย่างที่กล่าวข้างต้น car insurance ซึ่งจะแตกต่างตามอายุคนขับ มือใหม่หัดขับเสียประกันภัยแพงหน่อย และถ้าคุณเคยได้รับอุบัติเหตุจากการขับขี่ค่าเบี้ยประกันที่จ่ายก็จะลดลง แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าคุณได้รับอุบัติเหตุคุณจะเสียเบี้ยประกันในครั้งต่อไปแพงมาก รถทุกคันต้องมีการตรวจเช็คเหมือนบ้านเรา แต่ที่นี่จะเข้มงวด รถใหม่ก่อน 3 ปีไม่ต้องตรวจเช็ค พอหลัง 3 ปีต้องตรวจเช็คทุกปีเรื่องว่า MOT test (Ministry of Transport)

          เมาห้ามขับ เป็นกฎหมายที่บังคับอย่างเข้มงวด จะมีสุ่มจับโดยใช้อิเล็กทรอนิกส์ วัดจากลมหายใจของคนขับ โทษสถานเบาคือยกเลิกใบขับขี่ 18 เดือน แต่ถ้าเมาแล้วขับแล้วทำให้เกิดความเสียหายกับผู้อื่นถึงขั้นยกเลิกใบขับขี่ และคุณต้องรอเวลาอีก 2 ปีถึงจะสอบใบขับขี่อีกทีและต้องเสียประกันภัยแพงกว่าเดิมเป็นเท่าตัว

          เติมน้ำมันเองที่อังกฤษ บ้านนี้เมืองนี้เขาช่วยเหลือตัวเองจริงๆ เคยสงสัยว่าถ้าคนเข้ามาเติมน้ำมันแล้วขับรถหนีออกไปก็ได้สิ แต่ไม่ค่ะ เขามีกล้องวงจรปิดและสามารถจับกุมคนที่ทุจริต คนอังกฤษจะมีวินัยในตัวเองมาก โดยส่วนตัวเองชอบการเติมน้ำมันบ้านเรามากกว่า ที่อังกฤษไม่มีเด็กปั้มนะค่ะ  เราต้องออกจากรถมาเติมน้ำมันเอง บางครั้งหน้าหนาวไม่อยากออกจากรถเลย เติมน้ำมันเสร็จก็ต้องเข้าไปจ่ายเงินเอง ไม่มีคนมาเก็บเงินค่าน้ำมันจากที่รถของคุณนะค่ะ
                                       
driving in the UK

          การจอดรถ ต้องจอดเป็นที่เป็นทางที่เขากำหนดคะ ถ้าจอดในที่ห้ามจอดโดนใบสั่งสถานเดียวค่ะ ที่อังกฤษส่วนมากถ้าคุณจะจอดรถต้องเสียค่าจอดรถ ตามเวลาที่กำหนด เช่นถ้าคุณจอด 2 ชั่วโมงแล้วมาช้า ก็จะได้รับใบสั่ง parking ticket ก็จะเสียอีก 30ปอนด์ เพราะฉนั้นต้องดูเวลาจาก parking ticket ด้วยว่าหมดเวลากี่โมง อย่าชอปปิ้งเพลินแล้วกลับมาเสียค่าจอดรถไม่คุ้มคะ  หรืออาจเผื่อเวลาไว้เล็กน้อยเพื่อความสบายใจ เอาเงินที่ถูกปรับค่าจอดรถไปซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า สวยๆใส่กันดีกว่า

          



Saturday, 7 June 2014

อยู่อย่างไรในอังกฤษ

          เพื่อให้การดำรงชีวิตในประเทศอังกฤษเป็นไปอย่างราบรื่น เราควรเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพอากาศของที่นี่ก่อน ว่าเราควรจะปรับตัวอย่างไรให้เข้ากับการใช้ชีวิตประจำวัน ถ้าร่างกายปรับได้ ก็เป็นเรื่องง่ายที่เราจะใช้ชีวิตในประเทศนี้ได้อย่างมีความสุข สนุกสนานและมีคุณค่า นอกจากนั้นแล้ว เราควรรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมและมารยาท การปฏิบัติตัวอย่างไร ในที่นี่ขอกล่าวในส่วนของสภาพอากาศก่อนนะคะ


สหราชอาณาจักรมีชื่อเต็มว่า The United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland หรือเรียกสั้นๆว่าUK, Great Britain มีพื้นที่ทั้งหมด  243,610 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ ประเทศอังกฤษ (England) , สก๊อตแลนด์ (Scotland) , เวลส์(Wales)  และไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland)

ประเทศอังกฤษมี 4 ฤดูด้วยกันคือ
1. ฤดูใบไม้ผลิ Spring   ช่วงประมาณเดือน  มีค. - พค.
2.ฤดูร้อน Summer        ช่วงประมาณเดือน  มิย. -  สค.
3.ฤดูใบไม้ร่วง Autumn ช่วงประมาณเดือน  กย. -  พย.
4.ฤดูหนาว Winter        ช่วงประมาณเดือน  ธค. -  กพ.

          ประเทศอังกฤษมีสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีทั้งฝน แดดออก ลมแรง ร้อนและหิมะตก ฉะนั้นการเดินทางออกนอกบ้านต้องมีการเตรียมพร้อมกับสภาพอากาศที่แปรปรวน วิธีที่ดีที่สุดให้ดูพยากรณ์อากาศ จาก BBC news หรือ BBC เวปไชร์ ซึ่งค่อนข้างจะแม่นยำ โดย BBC จะบอกช่วงเวลาให้เราทราบด้วยว่าช่วงเวลาไหนฝนตก แดดออก หนาวประมาณกี่องศา เพื่อเราจะได้เตรียมตัวล่วงหน้าก่อนเดินทางออกจากบ้าน  

          การเปลี่ยนเวลา คนอังกฤษมีการหมุนเข็มนาฬิกาปรับไปปรับมาอยู่ 2 ครั้งในรอบหนึ่งปี คือช่วงเดือนมีนาคมและตุลาคมของทุกปี เพื่อถือเป็นการชดเชยกับสภาพเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและตกในแต่ละช่วงฤดูกาล ช่วงปลายมีนาคม-ปลายเดือนตุลาคม (วันเสาร์สุดท้ายของเดือน) เวลาที่อังกฤษจะช้ากว่าไทย 6 ชั่วโมง และช่วงปลายเดือนตุลาคม-ต้นมีนาคม เวลาที่อังกฤษจะช้ากว่าไทย 7 ชั่วโมง 

       ฤดูใบไม้ผลิ Spring ฤดูนี้อากาศจะหนาวเย็น แต่ไม่มากเท่ากับฤดูหนาวจริงๆ อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 1-9 °C บางครั้งถ้าหนาวมากๆอาจมีหิมะตกในฤดูใบไม้ผลิด้วย ฤดูนี้มองไปทางไหนต้นไม้ก็จะเริ่มผลิดอก ออกใบ เขียวสะพรั่งไปหมดแต่ก็ยังคงหนาวเย็น ช่วงเวลากลางวันจะเริ่มยาวนานขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับฤดูหนาวที่ผ่านมา และวันเสาร์สุดท้ายของเดือนมีนาคม ก็จะปรับนาฬิกา เวลาในอังกฤษในฤดูนี้จะช้ากว่าเวลาในไทย 6 ชั่วโมง เสื้อผ้าที่สวมใส่ยังเน้นความอบอุ่นให้กับร่างกาย

         ฤดูร้อน เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนอากาศก็จะดีขึ้น อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 12-25 °C ฤดูทุกอย่างเขียวขจีไปหมด ใบไม้เขียวขจี ดอกไม้บานสะพรั่งเต็มที่ ฤดูนี่เองที่ช่วงเวลากลางวันจะยาวนานที่สุด จะเริ่มเห็นแสงสว่างของเช้าวันใหม่ 4 โมงเช้า จนถึง 3 ทุ่ม  แต่เวลาก็ยังคงห่างจากที่ไทย 6 ชั่วโมงเหมือนเดิม ไม่แปลกใจเลยที่คนอังกฤษชอบอาบแดดตามชายหาดต่างๆ เพราะอากาศจะเย็นสบาย ไม่ร้อนไม่หนาวเกินไป  เหมาะสำหรับการพักผ่อน เสื้อผ้าที่สวมใส่ก็ง่ายๆไม่ต้องมากเหมือนฤดูหนาว ถ้าเทียบกับแสงแดดที่เมืองไทยแล้วก็คือฤดูหนาวของไทยเรานั่นเอง

         ฤดูใบไม้ร่วง อากาศเริ่มจะเย็นลง อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 9-14 °C ฤดูนี้ใบไม้เริ่มจะร่วงจากต้น แต่ก่อนที่จะร่วงโรย ใบไม้จะเปลี่ยนสี จากเขียวขจี เป็นสีส้ม หรือ สีเหลืองทอง และร่วงจะในที่สุด ช่วงนี้ก็สวยงามไม่แพ้ฤดูใบไม้ผลิ และพอปลายฤดูก็จะมีลมพัดแรงมากๆ ใบไม้ก็ร่วงตามถนนหนทาง ช่วงเวลากลางวันก็จะสั้นลง และวันเสาร์สุดท้ายของเดือนตุลาคม ก็จะปรับนาฬิกาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเวลาก็จะแตกต่างจากไทย 7 ชั่วโมง และเตรียมเข้าสู่หน้าหนาวต่อไป

         ฤดูหนาว เมื่อลมหนาวเข้ามาเยือน อากาศจะหนาวมากอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 0-10 °C  เวลากลางวันจะสั้นลง ความมืดเริ่มยาวนานขึ้น จะเห็นแสงสว่างในช่วง 8 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็นก็เริ่มมืดแล้ว ฤดูนี้ถ้าหนาวมากๆ หรืออุณหภูมิติดลบ มักจะมีหิมะตก